ชุดเจ้าสาวไทย
เมื่อกล่าวถึงชุดเจ้าสาว แทบทุกคนย่อมมองเห็น ภาพเจ้าสาวฟูฟ่อง ดูเหมือนเราจะลืมกันไปเสียแล้วว่า ชุดเจ้าสาวของผู้หญิงไทย มีรูปแบบที่หลากหลาย ต่างกันไป ตามความนิยมและสภาพสังคมในแต่ละยุค
สตรีมีฐานะในสมัยอยุธยาตอนปลายก่อนเสียกรุง นิยมแต่งกาย ด้วยผ้านุ่งจีบหน้านาง ห่มสไบ โดยเลือกให้ สีตัดกัน เช่น ผ้านุ่งสีเขียว สไบแสด และอาจห่ม สไบอัดกลีบต่างสี สองผืนซ้อน ในวันที่ต้องการสวย เป็นพิเศษหากเป็นชุดสำคัญ อย่างชุดเจ้าสาว ก็จะเลือกเนื้อผ้าที่หรูหรา อย่างผ้ายก ผ้าแพร ทัดหู ด้วยดอกไม้สด มีเครื่องประดับตามฐานานุรูป
ในบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายเรื่องสายโลหิต ของ โสภาค สุวรรณ ตอนที่แม่หญิงดาวเรือง แต่งงานกับขุนไกร ชุดเจ้าสาวของเธอ คือ ผ้านุ่งจีบ หน้านางผืนใหม่ที่อบร่ำ จนหอม พร้อมผ้าห่มสไบอัดกลีบสีตัดกันงดงาม และ ทัดดอกไม้ที่ข้างหู นวนิวยายอีกเรื่อง ที่อิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึง ต้นยุครัตนโกสินทร์ คือ เรื่องฟ้าใหม่ บทประพันธ์ของ ศุภร บุนนาคกล่าวถึงเครื่องแต่งกายของตัวละครหญิง ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ไว้ในตอนที่แม่พลอยนุ่งสีไรห่มสีไรเพิ่งจะเห็นแค่ชายผ้าห่ม ที่เฉียดไปกับข้างตักเดี๋ยวนี้เองว่าหล่อนห่มแพรสองชั้น ชั้นในสีทับทิมชั้นนอกนั้น กรองไหมโปร่งสีทอง
ในช่วงศึกสงครามสตรีจำเป็นต้องตัดผมสั้นเพื่อความสะดวกในการหนีภัยผมทรงนี้เรียกว่า ผมปีก คือไว้ผมยาวเฉพาะกลางศรีษะ แต่ปลายจอนที่ยาวลงมาเรียกว่า ผมทัด ใช้เกี่ยวดอกไม้ห้อยเพื่อความสวยงามได้ด้วย ส่วนเสื้อผ้า เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อ ห่อมผ้าแบบตะเบงมาน ครั้นบ้านเมืองเริ่มสงบลง ก็กลับมาแต่งกายสวยงามกันใหม่ กล่าวคือ นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบจีบ หรือสวมเสื้อแบบรีนบๆในวันปกติ และนุ่งผ้ายก ห่มสไบซ้อนสองชั้นในวันสำคัญ
เครื่องแต่งกายเช่นนี้ยังเป็นที่นิยมสืบต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังที่ปรากฏ ในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผนซึ่งรวบรวมขึ้น ในสมัยรัชกาลที่สองเนื้อเรื่องตอนหนึ่ง กล่าวถึงเครื่องแต่งกายของนางพิมพิลาไลย ในวันไปร่วมงานเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลไลยก์ว่า
“นุ่งยกลายกนกพื้นแดง ก้านแย่งทองระยับจับตาพราย
ชั้นในห่มสไบชมพูนิ่ม สีทับทิมยกดอกดูเฉิดฉาย
ริ้วทองกรองดอกพรรณราย ชายเห็นเป็นที่เจริญใจ”
จวบจนถึงรัชกาลที่สี่ซึ่งเริ่มเปิดประเทศ ติดต่อชาวตะวันตกยุคนี้การแต่งกาย เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง บุรุษต้องสวมเสื้อเวลาเฝ้า ส่วนสตรีในราชสำนัก ยังคงนุ่งผ้าจับหน้านาง ลายทอง ห่มสไบปัก และใช้เครื่องประดับต่างๆแบบไทยโบราณ อาทิ จี้ พาหุรัด เข็มขัด สร้อยตัว ต่างหู แหวน สำหรับหญิงทั่วไป เครื่องแต่งกายออกนอกบ้านมีทั้งเสื้อแขนกระบอกคอกลม ห่มสไบทับนุ่งผ้าลายโจงกระเบนหรือห่มสไบจีบ มีเครื่องประดับตามฐานะหญิงโสดสวม กำไลข้อเท้าด้วย
ความเปลื่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องเครื่องแต่งกายสตรี เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า ตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาล ที่มีให้พระราชดำริเปลื่ยนแปลงเครื่องแต่งกายสตรี นุ่งผ้ายกจีบหน้านาง ห่มตาดหรือห่มสไบปักเฉพาะในงานพิธีเต็มยศใหญ่ นอกนั้นให้นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อเข้ารูปผ่าหน้า แขนยาว คอกลมหรือคอตั้ง ชายเสื้อแค่เอว ห่มสไบแพรจีบ ที่ต่อมาพับตามยาวให้แคบลงเป็นคอแพรสะพาย ติดเข็มกลัดรวบชาย ผูกไว้ข้างเอวขวา สวมรองเท้าบู๊ตและถุงเท้า
ผ้าโจงกระเบนที่สตรีชาววังใช้กันในสมัยนั้น นอกจากผ้าลายที่หรูหรากว่า ผ้าม่วงนี้ไม่ได้หมายถึงผ้าสีม่วง หากแต่เป็นผ้าที่ทอจากเส้นไหมมีหลายชนิด เช่น ผ้าม่วงหางกระจอกสีเหลือบ ผ้าม่วงดอกม่วงไหมเลี่ยน ม่วงลาย ม่วงคดกฤช
หลังเสด็จกลับจากยุโรป พ.ศ. 2440 ทรงนำแบบอย่างการแต่งกายของตะวันตกเข้ามาดัดแปลงให้เข้ากับเมืองไทย แบบเสื้อที่นิยมคือเสื้อคอตั้ง แขนยาวแนบสนิทจากข้อมือถึงข้อศอก ต้นแขนพองอย่างขาหมูแฮมติดระบายจีบฟู อกและรอบคอมีลูกไม้ประดับริ้บบิ้นสีเดียวกับแพรสะพาย ผ้านุ่งเป็นผ้าม่วงโจงกระเบน สวมถุงน่องรองเท้าถือผ้าเช็ดหน้าลูกไม้ และกระเป๋าเงินหรือทองถักแบบถักตาขุน
แม่วาดสาวชาววังสมัยรัชกาลที่ห้าจากนวนิยายเรื่องร่มฉัตร ของ ทมยันตี ก็แต่งกายตามความนิยมนี้เช่นกันในวันที่เธอเข้าพิธีสมรสกับคุณอรรถ ดังที่ท่านผู้ประพันธ์บรรยายไว้ว่า “ตอนเช้าวาดนุ่งผ้าม่วงสีตองอ่อน ใส่เสื้อขาหมูแฮมแขนพอง คอจีบร้อยริบบิ้นที่คอและแขนสีเดียวกันกับ ผ้าม่วงและแพรที่สะพายตรึงเข็มกลัดมรกตที่อก บ่า และสะเอวผิวที่บ่มร่ำขมิ้น ดินสอพองไว้นานเหลืองละออ”
ส่วนแม่พลอยของคุณเปรม สาวชาววังยุคเดียวกับแม่วาด จากเรื่องสี่แผนดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้น ดูเหมือนจะแต่งงานหลังแม่วาดสักหน่อย เพราะผู้ประพันธ์เล่าถึงที่แม่พลอยตระเตรียมเสื้อผ้าสำหรับออกเรือน หลังจากรับหมั้นว่า “เสร็จจากเรื่องผ้าก็เรื่องเสื้อ ซึ่งเดียวนี้ใส่กันหนาตากว่าแต่ก่อน สมัยนิยมก็เปลี่ยนไปจากเสื้อแขนพองเหมือนขาหมูแฮม กลายเป็นเสื้อแขนธรรมดารัดเอวแน่นและเกี่ยวขอข้างหลัง”
ยุคนั้น สตรีที่เป็นข้าราชการในราชสำนัก เมื่อจะแต่งงาน ก็นิมสวชุดเจ้าสาวแบบ “แหม่ม” ดังกล่าว หรือสวมซิ่นกับเสื้อแบบฝรั่ง ส่วนทรงผม ถ้าไม่ไว้ยาวเกล้ามวย ก็ตัดเป็นทรงชิงเกิ้ล เมื่อออกงานจะคาดเคื่องประดับไว้ที่หน้าผาก แบบของเครื่องเพชรพลอยก็เป็นทางตะวันตกมากขึ้น
ล่วงมาถึงรัชกาลที่เจ็ด ช่วงต้นนิยมผ้าถุงสำเร็จสั้น เย็บเข้าขอบเอวไม่ต้องคาดเข็มขัด สวมเสื้อตัวหลวมยาว หรือแขนสั้นไม่มีแขนแต่งโบว์ระบายไม่สะพายแพร ใส่สร้อยต่างหูยาว และกำไล ไว้ผมยาวประมาณคาง ดัดเป็นลอน อย่างที่ทำให้แม่พลอยลำพึงว่า “การแต่งตัวของเด็กสาวๆ รุ่นนี้เป็นแบบเดียวกันหมด คือตัดผมบ๊อบ หยิกผมนุ่งผ้าสิ้นสีเดียวกันทั้งผืนไม่มีเชิงไม่มีลาย เหมือนกับผ้าถุงของมอญใส่เสื้อแบบฝรั่ง เปิดจากแบบหนังสือเสื้อแบบต่างๆกันและสีต่างๆกันเริ่ม ต้นด้วยผ้าซิ่นยาวและเสื้อที่ยังมีแขนอยู่บ้างก่อน แต่นานวันเข้าผ้าซิ่นที่นุ่งนั้นก็เริ่มจะหดสั้นเข้า เป็นกระโปรงแหม่มและสั้นขึ้นทุกวันจนน่ากลัว อันตรายเวลาจะนั่งลุกในสายตาของพลอย ส่วนเสื้อที่นิยมใส่กันกลายเป็นแบบฝรั่งจากเมืองนอกแท้ คือเสื้อไม่มีแขนไม่มีเอวปล่อยเป็นรูปกระบอกหลวมๆ ยาวเลยสะโพกลงมาเล็กน้อย เมื่อใช้กับผ้าซิ่นที่หดขึ้นไปก็ทำให้มองเห็น ผ้าซิ่นเป็นขอบเหลืออยู่นิดเดียวพลอยพยายาม จะมองดูแบบการแต่งกายนี้ให้เห็นสวยก็ ไม่สามารถจะมองเห็นทางนั้นได้…
แต่ต่อมาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคม รูปแบบของเสื้อผ้าก็เปลี่ยนกลับไปเป็นเสื้อเรียบๆ เข้ารูป มีคอปกแบบฝรั่ง แขนสั้นบ้างพองบ้าง กับผ้าถุงสำเร็จสั้นหรือยาว ใช้เครื่องประดับแบบตะวันตกพองาม ไม่หรูหราฟู่ฟ่ามากนัก ดังเช่นที่ปรากฏในลายพระหัตถเลขา จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถเลขาไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาราชานุภาพ ฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2479 ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือชุดสาส์นสมเด็จทรงเล่าเรื่องข้าหลวงคนหนึ่ง ที่กำลังจะออกเรือนว่า “หญิงอามรับธุระจัดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้สิงโตในการแต่งงาน แต่มีความหนักใจว่าพวกเมืองชลเขาจะไม่ชอบ จึงไล่เลี้ยงสิงโตได้ทราบความแปลกๆ เห็นว่าควรจะกราบทูลให้ทรงทราบด้วยติดจะขันๆ ว่า เสื้อผู้หญิงที่ตัดฟิตอย่างทุกวันนี้พวกเมืองชลชอบ เพราะเข้าแบบเสื้อกระบอกหรือเสื้อเอวที่ซึ่งเคยใส่มาก่อน ส่วนเสื้ออย่างโคร่งคร่างคาดเข็มขัดหลวมๆ ลงไปยานอยู่ที่สะโพกซึ่งเลิกไป แล้วนั่นเขาไม่ชอบว่าเหมือนปลากระบอกท้องไข่ ดัดผมคลื่นเขาเรียกกันว่า ผมกาบมะพร้าว เพราะถูกไฟเกรียมเส้นแข็งเหมือนเส้นกาบมะพร้าว ผู้หยิงที่แต่งแต้มสีปากว่าเป็นหญิงคนชั่ว แปลว่า แบบสากลนั้นชาวเมืองชลไม่ชอบ ทั้งทางบ้านเกล้ากระหม่อมก็ไม่ชอบประกอบกันถึงสองแรง…
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ผู้คนก็เริ่มแต่งตัวกันเต็มที่อีกครั้งโดยเป็นไปตามแบบตะวันตก อย่างที่ดาราภาพยนต์สวมใส่ มีกระโปรงบานแบบ “นิวลุค” ของห้องเสื้อดิออร์ เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในเรื่องเครื่องแต่งกายของสตรีไทย เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ตามพระราชดำริของพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักว่าสตรีไทยยังไม่มีชุดประจำชาติอย่างเป็นทางการ จึงโปรดเกล้าฯให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ไปปรึกษา กับอาจารย์ผู้รู้เพื่อรวบรวมแบบชุดต่างๆในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่สุโขทัยมาประมวลออกแบบใหม่ ให้เป็นชุดแต่งกายประจำชาติสำหรับสตรีเรียกว่าชุดไทยพระราชนิยม มีแปดรูปแบบให้เลือกสวมใส่ให้เหมาะกับกาลเทศะ ได้แก่
ชุดไทยเรือนต้น เสื้อเข้ารูปแขนสามส่วน คอกลมไม่มีขอบ ผ่าหน้าสวมกับซิ่นยาวป้ายหน้า จะตัดเย็บจากผ้าฝ้ายหรือไหมก็ได้ แต่ไม่ต้องมียกทอง เพื่อจะได้สวมใส่สบาย เหมาะสำหรับงานอย่างลำลอง
ชุดไทยจิตรลดา เป็นชุสำหรับพิธีกลางวันใช้ผ้าไหมพื้นหรือยกดอกก็ได้ ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าเสื้อแขนยาว ผ่าอก คอตรงมีขอบตั้ง ความงดงามอยู่ที่เนื้อผ้า
ชุดไทยอัมรินทร์ ลักษณะคล้ายชุดไทยจิตรลดา แต่ใช้ผ้ายกไหมแก้มทองเพราะเป็นชุดพิธีตอนค่ำ ตัวเสื้อเป็นคอกลมกว้างไม่มีขอบ และแขนสามส่วนก็ได้ ผ้าซิ่นยาวป้ายหน้าไม่ต้องคาดเข็มขัด
ชุดไทยบรมพิมาน เป็นชุดที่ใช้ในพิธีตอนค่ำอีกแบบหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีรูปร่างดีเพราะผ้านุ่งเป็นผ้ายกทองจีบหน้านางมีชายพก จึงต้องคาดเข็มขัด ตัวเสื้อเข้ารูป คอตั้ง ผ่าหลัง นิยมเย็บตัดกับผ้านุ่ง เป็นชุดยาวเพื่อจะได้ดูตรึงสวย
ชุดไทยศิวาลัย คล้ายชุดไทยบรมพิมาน แต่หรูหรายิ่งกว่า เพราะมีสไบปักห่มทับเสื้ออีกชั้น ใช้ในงานพิธีเต็มยศ
ชุดไทยจักรี ท่อนบนเป็นสไบเฉียง ทับด้วยสไบกรองทอง ผ้านุ่งยกทอง จีบหน้านางมีชายพก ค่าดเข็มขัดเพื่อความสะดวกอาจตัดเป็นชุดยาว คือเสื้อเปิดไหล่ข้างหนึ่ง ไม่มีแขน ตัดเย็บกับผ้านุ่ง แล้วห่มสไบทับหรือประยุกต์โดยจีบผ้าติดไว้ที่หัวไหล่ ทิ้งชายยาวแบบชายสไบก็งดงามดี
ชุดไทยจักพรรดิ์ คือชุดไทยสไบเฉียงที่มีความหรูหรามาก เพราะห่มสไบจีบซ้อนด้วยสไบทึบปักลวดลายวิจิตร ผ้านุ่งเป็นผ้ายกทอง จีบหน้านางมีชายพกขาดเข็มขัด พร้อมเครื่องประดับเต็มที่
ชุดไทยดุสิต ตัวเสื้อคอกว้างไม่มีแขน ใช้ผ้าไหมเลี่ยนปักเลื่อมลูกปัด ผ่าหลังหรือผ่าข้างผ้านุ่งจีบหน้านาง มีชายพกคาดเข็มขัด จะเย็บตัวเสื้อติดกับผ้านุ่งเพื่อความสะดวกก็ได้ เหมาะสำหรับงานกลางคืนอย่างงานราตรีสโมสร
ชุดไทยพระราชนิยมที่เจ้าสาวส่วนใหญ่แต่งในพิธีมงคลสมรส คือชุดไทยจิตรลดา ไทยบรม และไทยจักรี ส่วนงานฉลองตอนค่ำโดยมากมักสวมชุดแบบตะวันตกสีต่างๆ ไม่เน้นว่าต้องเป็นสีขาว แต่ถ้าจะให้หรู ก็ต้องเป็นฝีมือของนักออกแบบหรือดีไซเนอร์
นัดออกแบบรุ่นแรกเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ที่โด่งดังมากคือ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ตามด้วยคุณวรชาติ ชาตะโสภณ คุณเรณู โอสถานนท์ คุณสิริลักษณ์ ศาสตราภัย คุณยศวดี บุญหลง นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนสอนตัดเสื้ออย่างดวงใจ ระพี พรศรี ที่ช่วยกันพัฒนาวงการแฟชั่นไทย ให้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟู ซึ่งเริ่มต้นจากห้องเสื้ออมตะอย่างไข่ บูติก ห้องเสื้อธีรพันธ์ ดวงใจบิส ห้องเสื้อพิสิษฐ์ และห้องเสื้อพิจิตราซึ่งยังยืนยงมาจนทุกวันนี้
Link : ชุดไทยประยุกต์
No comments:
Post a Comment